"ความล่มสลาย
แห่ง ๒ ราชตระกูล"

 

ตระกูลศากยวงศ์ แห่ง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ ตระกูลโกลิยวงศ์ แห่ง กรุงเทวทหะ
เป็นเครือญาติเกี่ยวดองกันโดยสายเลือดด้วยสืบสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน
คือ จากพระเจ้าโอกากราช มาตามลำดับ จนถึงพระเจ้าชยเสนะ

ทางฝ่ายศากยวงศ์ พระเจ้าชยเสนะ มีพระราชบุตรและพระราชบุตรีรวม ๒ พระองศ์ คือ

  • พระเจ้าสีหนุ
  • พระนางเจ้ายโสธรา  

ส่วนทางโกลิยวงศ์ กษัตริย์ผู้ปกครองซึ่งไม่ปรากฏพระนามมีพระราชบุตรและ
พระราชบุตรีรวม ๒ พระองศ์เช่นกัน คือ

  • พระเจ้าอัญชนะ
  • พระนางกัญจนา

ต่อมาพระเจ้าสีหนุ (ศากยวงศ์) กับ พระนางกัญจนา (โกสิยวงศ์) โดยอภิเษกสมรสกัน
มีพระราชบุตรและพระราชบุตรีรวม ๗ พระองศ์ คือ

  • พระเจ้าสุทโธทนะ
  • พระเจ้าสุกโกทนะ
  • พระเจ้าอมิโตทนะ
  • พระเจ้าโธโตทนะ
  • พระเจ้าฆนิโตทนะ
  • พระนางปมิตา
  • พระนางเจ้าอมิตา

และ พระเจ้าอัญชนะ (โกสิยวงศ์) กับ พระนางเจ้ายโสธรา (ศากยวงศ์) ได้อภิเษกสมรส
กัน มีพระราชบุตรและพระราชบุตรีรวม ๔ พระองศ์ คือ

  • พระเจ้าสุปปพุทธะ
  • พระเจ้าทัณฑปาณิ
  • พระนางเจ้ามายาเทวี (สิริมหามายาเทวี)
  • พะนางเจ้าปชาบดี (โคตมี)

ในชั้นต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะ (ศากยวงศ์) กับ พระนางสิริมหามายาเทวี (โกลิยวงศ์)
ได้อภิเษกสมรสกัน มีพระราชบุตรเพียง ๑ พระองศ์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ครั้นเมื่อ ประสูติพระราชกุมารได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาเทวีก็เสด็จทิวงคต พระเจ้า   
สุทโธทนะ จึงอภิเษกสมรสกับ พระนางเจ้าปชาบดี(โคตมี) และมีพระราชบุตรและ
พระราชธิดาอีกรวม ๒ พระองศ์ คือ

  • เจ้าชายนันทะ (พระนันทะ)
  • เจ้าหญิงรูปนันทา (พระรูปนันทาเถรี)

พระเจ้าสุปปพุทธะ (โกลิยวงศ์) ได้อภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าอมิตา (ศากยวงศ์)
มีพระราชบุตรและพระราชบุตรีรวม ๒ พระองศ์ คือ

  • เจ้าชายเทวทัต (พระเทวทัต)
  • พระนางพิมพาหรือยโสธรา

พระเจ้าสุกโกทนะ (ศากยวงศ์) กับ นางกีสาโคตมี มีพระราชโอรส คือ

  • เจ้าชายอานนท์ (พระอานนท์เถระพุทธอุปัฏฐาก)

พระเจ้าอมิโตทนะ (ศากยวงศ์) มีพระราชบุตรและพระราชบุตรีรวม ๓ พระองค์ คือ

  • เจ้าชายมหานามะ
  • เจ้าชายอนุรุทธะ (พระอนุรุทธะเถระ)
  • เจ้าหญิงโรหิณี

ในลำดับชั้นต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะ (ศากยวงศ์) ได้อภิเษกสมรสกับพระนางพิมพา
(โกลิยวงศ์) มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ

  • เจ้าชายราหุล (พระราหุล)

พระเจ้ามหานามะ (ศากยวงศ์) มีพระธิดากับนางทาสีคือ

  • พระนางวาสภขัตติยา

ต่อมา พระนางวาสภัขัตติยา ได้เป็นพระมเหสีของ พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่ง
เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล และมีพระราชโอรส (ซึ่งถือเป็นจัณฑาล เพราะพระบิดากับ
พระมารดาต่างวรรณะกัน) คือ

  • เจ้าชายวิฑูฑภะ

และเพราะความถือตัวจัดนี้เอง ที่ทำให้กรุงกบิลพัสดุด์ถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยอำนาจ ของพระเจ้าวิฑูฑภะ โอรสพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี ซึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะเองก็เป็นพระนัดดาของพระเจ้ามหานามแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ นั้นเอง

พระองค์ถูกเหยียดหยามจากพระญาติถึงขนาดเอาน้ำนมชำระล้างสถานที่ทุกแห่งที่ พระองค์ประทับในกรุงกบิลพัสดุ์คราวเสด็จเยี่ยมพระญาติ โดยพวกศากยะกรุงกบิลพัสดุ์รังเกียจว่า พระมารดาของพระองค์ไม่ใช่คนวรรณะกษัตริย์ แต่เป็นทาสีซึ่งเป็นคนละวรรณกับพวกตน นี่คือชนวนของการทำลายล้างกรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาต่อมา

พระเจ้าวิฑูฑภะเป็นพระโอรสในพระเจ้าปเสน ทิโกศล กับพระนางวาสภขัตติยา ราชธิดาของท้าวมหานามแห่งศากยวงศ์ แต่พระนางประสูติจากพระมารดาซึ่งเป็น
ทาสี รวมความว่าเป็นลูกของหญิงทาส แต่มีพ่อเป็นเจ้าในศากยวงศ์

เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้างแค้นที่ศากยวงศ์ทำความเจ็บช้ำแก่พระองค์ เรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้พระนางวาสภขัตติยามาเป็นพระมเหสีก็เป็นเรื่อง น่ารู้ ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้แต่โดยย่อ

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถีประทับยืนที่ปราสาทชั้นบนทอดพระเนตรไปที่ ถนน เห็นภิกษุหลายพันรูปกำลังเดินไปเพื่อฉันอาหารที่บ้านของอนาถปิณฑิกเศรษฐี บ้าง บ้านของจูฬอนาถปิณทิกเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาและนางสุปปวาสบ้าง เมื่อพระราชาทรงทราบก็มีพระประสงค์จะถวายภัตตาหารบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลนิมนต์พระพุทธองค์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์ ๗ วัน ในวันที่ ๙ ทูลพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระองค์!
ขอพระองค์และพระสงฆ์สาวกจงรับภิกษา (อาหาร) ในวังเป็นนิตย์เถิด"

พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร!
ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่รับอาหารประจำในที่แห่งเดียว เพราะประชาชน
เป็นอันมากหวังการมาของพระพุทธเจ้า (คือต้องการให้พระพุทธเจ้าไปเสวย
ที่บ้านของตนบ้าง)


พระราชาขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งเป็นหัวหน้ามาแทนพระพุทธองค์ พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์นำหมู่ภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ไปฉันภัตตาหารที่พระราชวัง

พระราชาทรงอังคาส (ถวาย) พระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง มิได้ทรงมอบหมายให้ใครเป็นเจ้าหน้าที่แทนพระองค์ ทรงกระทำติดต่อมาอีก ๗ วัน พอวันที่ ๘ ทรงลืม เนื่องจากมิได้ทรงมอบหมายเจ้าหน้าที่ไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอะไร กว่าพระองค์จะทรงระลึกได้ก็เป็นเวลานาน ภิกษุกลับไปเสียหลายรูป

ในวันต่อมาก็ทรงลืมอีก ภิกษุส่วนมากคอยไม่ไหวจึงกลับไปเสีย เหลืออยู่จำนวนน้อย ต่อมาอีกวันหนึ่งทรงลืมอีก ภิกษุกลับไปหมดเหลือแต่พระอานนท์รูปเดียว เมื่อพระราชาทรงระลึกได้ก็เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็น แต่พระอานนท์เท่านั้นอยู่เพื่อรักษาความเลื่อมใสของตระกูล ทรงเห็นอาหารวางเรียงรายอยู่มากมาย แต่ไม่มีพระอยู่ฉัน วันนั้นได้ทรงอังคาสพระอานนท์เพียงรูปเดียว ทรงน้อยพระทัยว่า ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้ามิได้เอื้อเฟื้อ มิได้ทรงรักษาพระราชศรัทธาเลย เมื่ออังคาสพระอานนท์เสร็จแล้วเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์จัดแจงอาหารไว้สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป แต่มีพระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น อยู่ฉัน นอกนั้นมิได้อยู่ทำให้ของเหลือมากมาย ภิกษุสงฆ์มิได้เอื้อเฟื้อ มิได้รักษาศรัทธาของข้าพระองค์เลย"

พระศาสดามิได้ตรัสโทษภิกษุสงฆ์แต่ประการใด เพราะทรงรู้ ทรงเข้าพระทัยทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ตรัสกับพระราชาว่า

"มหาบพิตร! พระสงฆ์คงจักไม่คุ้นเคยกับราชสกุล จึงได้กระทำดังนั้น"

พระราชามีพระประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์คุ้นเคยในราชสกุล ทรงหาอุบายว่าควรกระทำอย่างไรดีหนอ? ทรงดำริว่า หากพระองค์เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ภิกษุคงจักคุ้นเคย ควรจักขอเจ้าหญิงแห่งศากยวงศ์มาเป็นพระมเหสีสักองค์หนึ่ง จึงทรงแต่งทูตถือพระราชสาส์นไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ขอเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งมาเป็นพระมเหสี ฝ่ายทางศากยวงศ์ ถือตนว่าสกุลสูงกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เวลานั้น แคว้นโกศลเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่ ดูเหมือนว่าแคว้นสักกะของศากยวงศ์จะขึ้นกับแคว้นโกศลด้วยซ้ำไป ดังนั้น เรื่องพระเจ้าปเสนทิทูลของเจ้าหญิง จึงทำความลำบากพระทัยให้แก่พวกศากยะไม่น้อย ครั้นจะไม่ถวายก็เกรงพระราชอำนาจแห่งพระเจ้าโกศล ครั้นจะถวายก็เกรงสกุลของพวกตนจะไปปะปนกับเลือดแห่งสกุลอื่น อันถือว่าต่ำกว่าพวกตน

เมื่อประชุมปรึกษาเรื่องนี้กันนานพอควรนั้น ท้าวมหานามจึงเสนอที่ประชุมว่า

"หม่อมฉันมีธิดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อวาสภขัตติยาเป็นลูกของทาสี เธอมีความงาม เป็นเลิศ พวกเราสมควรให้นางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล"

ที่ประชุมเห็นชอบจึงจัดแจงส่งพระนางวาสภขัตติยาไปถวาย ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงทราบจึงโปรดปรานมาก พระราชทานสตรี ๕๐๐ ให้เป็นบริวาร ต่อมาพระนางประสูติพระโอรส พระนามว่า วิฑูฑภะ

ความจริงก่อนให้ทูตรับพระนางมา พระเจ้าปเสนทิก็ทรงป้องกันการถูกหลอกโดยทรงกำชับราชทูตไปว่า จะต้องเป็นพระราชธิดาที่เสวยร่วมกับกษัตริย์เช่น ท้าวมหานาม ซึ่งท้าวมหานามไม่ขัดข้อง ทรงทำทีเป็นเสวยร่วมกับพระนางวาสภขัตติยาให้ราชทูตดู แต่มิได้เสวยจริง คงจะมีแผนให้เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจนเสวยไม่ได้ ต้องเลิกในทันทีทันใด

แม้พระนามวิฑูฑภะนั้นก็ได้มาโดยฟังมาผิด คือ เมื่อพระกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าปเสนทิทรงส่งราชทูตไปทูลขอพระนามแห่งพระกุมารใหม่จากพระอัยยิกา (ยาย) พระเจ้ายาย พระราชทานว่า "วัลลภ" แปลว่า "เป็นที่โปรดปราน" แต่ราชทูตหูตึง ฟังเป็นวิฑูฑภะ

พระเจ้าปเสนทิก็ทรงพอพระทัยต่อพระนามนั้น ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ วิฑูฑภะ กุมารเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ ความจริงพระมารดาพยายามทัดทานหลายครั้ง เพราะ ทรงเกรงพระราชโอรสจะทรงทราบความจริงเข้า แต่พระกุมารทรงยืนยันว่าจะเฝ้าพระ อัยยิกาให้ได้ พระนางจึงรีบส่งสาส์นล่วงหน้าไปก่อน เพื่อให้พระญาติปฏิบัติต่อวิฑูฑภะ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจจะเกิดขึ้น

เมื่อทราบข่าวว่า วิฑูฑภะกุมารจะเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ ทางศากยวงศ์ก็ประชุมกันว่าจะต้อนรับอย่างไร พวกเขาไม่ลืมว่าพระมารดาของวิฑูฑภะนั้นเป็นธิดาของนางทาสี ตัววิฑูฑภะเอง แม้จะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิก็จริง แต่ฝ่ายมารดาวรรณะต่ำ วิฑูฑภะจึงมิได้เป็นอุภโตสุชาต พวกเขาไม่สามารถให้เกียรติอย่างลูกกษัตริย์ได้ จึงจัดแจงส่งพระราชกุมารศากยะ ที่พระชนมายุน้อยกว่าวิฑูฑภะ ออกไปชนบทหมดเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องทำความเคารพบุตรแห่งทาสี

เมื่อวิฑูฑภะเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ก็ต้อนรับดีพอสมควร พระราชกุมารเที่ยวไหว้คนนั้นคนนี้ ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเป็น ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และพี่ เป็นต้น แต่ไม่มีใครสักคนเดียวที่ไหว้พระราชกุมารก่อน เมื่อวิฑูฑภะถามผู้ใหญ่ก็บอกว่าพระราชกุมารรุ่นน้อง ๆ ได้ไปตากอากาศในชนบทกันหมดไม่มีใครอยู่เลย วิฑูฑภะเก็บเอาความสงสัยไว้ในใจ พระองค์ประทับอยู่เพียง 2-3 วันก็เสด็จกลับ พกเอาความสงสัยในพระทัยไปด้วยว่า เหตุไฉนพระองค์จึงได้รับการต้อนรับอย่างชาเย็นเหลือเกิน

ขณะที่เสด็จออกจากวังแล้วนั้น บังเอิญนายทหารคนหนึ่งลืมอาวุธไว้จึงวิ่งกลับไปเอา ได้เห็นหญิงรับใช้คนหนึ่งกำลังเอาน้ำเจือน้ำนมล้างแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะ ประทับ ปากก็พร่ำด่าว่า

   "นี่คือแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะบุตรของนางทาสีนั่ง"

นายทหารผู้นั้นเข้าไปถาม ทราบเรื่องโดยตลอด เมื่อกลับมาถึงกองทัพก็กระซิบบอกเพื่อน ๆ เสียงกระซิบกระซาบแผ่วงกว้างออกไปจนรู้กันหมดทั้งกองทัพ พระราชกุมารก็ทรงทราบด้วย เป็นครั้งแรกที่ทรงทราบกำเนิดอันแท้จริงของพระองค์ว่าสืบสายมาอย่างไร

ทรงพิโรธมาก อาฆาตพวกศากยะไว้ว่า เวลานี้ขอให้พวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่ประทับนั่ง ด้วยน้ำที่เจือด้วยน้ำนมก่อน แต่เมื่อใดทรงได้ราชสมบัติในแคว้นโกศล เมื่อนั้นจะเสด็จกลับไปล้างแค้น โดยเอาเลือดในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานนั้น พระเจ้าวิฑูฑภะทรงพิโรธ อาฆาตพวกศากยะ เพราะถูกดูหมิ่นว่าพระองค์เป็นบุตรของนางทาสี

เมื่อถึงสาวัตถี พวกอำมาตย์ได้กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้พระเจ้าปเสนทิทรงทราบ ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ถอดพระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะออกจากตำแหน่งพระมเหสีและราชกุมารตามลำดับ ทรงให้ริบเครื่องบริวาร และเครื่องเกียรติยศทั้งปวง พระราชทานให้เพียงสิ่งของที่ทาส และทาสีควรจะใช้เท่านั้น

ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระศาสดาเสด็จมายังพระราชนิเวศน์ พระเจ้าปเสนทิทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสปลอบว่า

"มหาบพิตร!
พวกศากยะกระทำไม่สมควรเลย เมื่อจะถวายก็ควรจะถวายพระราชธิดา
ที่มีชาติเสมอกันจึงจะควร"

ครู่หนึ่งผ่านไป พระศาสดาจึงตรัสอีกว่า
"แต่อาตมาภาพใคร่ถวายพระพรว่า พระนางวาสภขัตติยานั้นเป็นธิดาของ ขัตติยราช ได้รับการอภิเษกในพระราชมณเฑียรของขัตติยราช ฝ่ายวิฑูฑภะ กุมารเล่าก็ได้อาศัยขัตติยราชนั้นแลประสูติแล้ว
มหาบพิตร! ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สู้จะสำคัญนัก สำคัญที่ฝ่ายบิดา แม้บัณฑิต
แต่โบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงยากจนที่หาบฟืนขาย
และพระราชกุมารอันประสูติจากครรภ์ของสตรีนั้นก็ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่
ในนครพาราณสีพระนามว่า กัฏฐวาหนราช"


พระราชาทรงสดับกถาของพระศาสดาแล้วทรงเชื่อ จึงรับสั่งให้พระราชทานเครื่องบริวาร เครื่องเกียรติยศแก่พระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภกุมารดังเดิม

ต่อมาวิฑูฑภกุมารได้ราชสมบัติ โดยการช่วยเหลือของทีฆการายนะเสนาบดี ฑีฆการายณะนั้น เป็นหลานของพันธุลเสนาบดี ซึ่งพระเจ้าปเสนทิวางอุบายให้คนของพระองค์ฆ่าเสีย โดยที่พันธุละมิได้มีความผิด แต่มีบางพวกยุยงว่าพันธุละต้องการแย่งราชสมบัติในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิทรงเชื่อ เมื่อพันธุละพร้อมด้วยบุตร ๓๒ คนตายแล้ว พระราชาทรงทราบความจริงในภายหลัง ทรงโทมนัสมาก ไม่สบายพระทัย ไม่มีความสุขในราชสมบัติ ทรงประทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่ฑีฆการายนะผู้เป็นหลานของพันธุละ เพื่อทดแทนความผิดที่พระองค์ทรงกระทำไป

ฑีฆการายนะยังผูกใจเจ็บในพระราชาว่าเป็นผู้ฆ่าลุงของตน คอยหาโอกาสแก้แค้นอยู่เสมอ วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาที่นิคมชื่อ เมทฬุปะของพวกศากยะ ทรงให้พักพลไว้ใกล้พระอาราม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
แต่พระองค์เดียว ฑีฆการายนะได้โอกาสจึงมอบเครื่องราช กกุธภัณฑ์อิสริยยศของกษัตริย์ ให้วิฑูฑภะแล้วนำพลกลับพระนครสาวัตถี มอบราชสมบัติให้วิฑูฑภะครอง รวมความว่าฑีฆการายนะกับวิฑูฑภะ ร่วมกันแย่งราชสมบัติ ฝ่ายวิฑูฑภะก็พอพระทัย เพราะต้องการมีอำนาจสมบูรณ์ เพื่อล้างแค้นศากยะได้เร็วขึ้น

แต่ปีนั้นก็เป็นปีที่พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้วนับว่าอยู่ในวัยที่ชรามาก พระเจ้าปเสนทิเสด็จกลับจากการเฝ้าพระศาสดาไม่ทรงเห็นไพร่พล มีแต่ม้าตัวหนึ่งกับหญิงรับใช้คนหนึ่งอยู่ที่นั่น ทรงทราบความแล้วเสด็จไปยังเมืองราชคฤห์เพื่อขอกำลังของพระเจ้าอชาตศัตรูมา ปราบวิฑูฑภะ และการายนะ แต่เสด็จไปถึงหน้าเมืองราชคฤห์ในค่ำวันหนึ่ง ประตูเมืองปิดเสียแล้ว ไม่อาจเสด็จเข้าเมืองได้ จึงทรงพักที่ศาลาหน้าเมือง และสิ้นพระชนม์ในคืนนั้น เพราะความหนาว ๑ ทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ๑ และเพราะทรงพระชรามาก ๑ ตอนเช้า เมื่อประตูเปิดแล้ว ประชาชนชาวราชคฤห์ได้เห็นพระศพ และฟังเสียงหญิงรับใช้คร่ำครวญว่า ราชาผู้เป็นจอมแห่งชาวโกศล จึงนำความนั้นกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู ๆ ให้รับพระศพเข้าไปถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติยศ

ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์แล้ว อันความแค้นกระตุ้นเตือนอยู่เสมอ มิอาจทรงยับยั้งได้ จึงเตรียมกรีธาทัพไปย่ำยีพวกศากยะ

พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นความพินาศ จะมาถึงหมู่พระญาติ มีพระพุทธประสงค์จะทรงบำเพ็ญญาตัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ จึงเสด็จไปประทับ ณ พรมแดนระหว่างโกศลกับศากยะ ประทับ ณใต้ต้นไม้มีใบ้น้อยต้นหนึ่งทางแดนศากยะ ถัดมาอีกเล็กน้อยเป็นเขตแดนแคว้นโกศลมีต้นไทรใหญ่ใบหนาร่มครึ้มขึ้นอยู่ พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพผ่านมาทางนั้น ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาจึงเสด็จเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วทูลว่า

"พระองค์ผู้เจริญ!
เพราะเหตุไร จึงประทับใต้ต้นไม้อันมีใบน้อยในเวลาร้อนถึงปานนี้ ขออพระองค์ โปรดประทับนั่ง ณ โคนต้นไทรอันมีร่มครึ้ม มีเงาเย็นสนิทดีทางแดนโกศลเถิด"

"ขอถวายพระพร มหาบพิตร! ร่มเงาของพระญาติเย็นดี"

พระเจ้าวิฑูฑภะ ทรงทราบทันทีว่า พระศาสดาเสด็จมาป้องกันพระญาติ อนึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะทรงระลึกได้อยู่ว่า การได้รับตำแหน่งมเหสีของพระมารดา และตำแหน่งราชโอรสของพระองค์เองคืนมานั้น เพราะการช่วยเหลือของพระบรมศาสดา พระคุณนั้นยังฝังอยู่ในพระทัย คนที่มีความพยาบาทมาก มักเป็นคนมีความกตัญญูด้วยเหมือนกัน คือ จำได้ทั้งความร้ายและความดีที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน ด้วยประการฉะนี้ พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยกทัพกลับเมืองสาวัตถี แต่ความแค้นในพระทัยยังคงคุกรุ่นอยู่ พระองค์จึงทรงกรีธาทัพไปอีก ๒ ครั้ง ได้พบพระศาสดาในที่เดียวกัน และเสด็จกลับเหมือนครั้งก่อน

พอถึงครั้งที่ ๔ พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นบุพกรรมของพวกศากยะ ที่เคยเอายาพิษโปรยลงในแม่น้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายหมู่เป็นอันมาก กรรมนั้นกำลังจะมาให้ผล พระองค์ไม่สามารถต้านทานขัดขวางได้ จึงมิได้เสด็จไปในครั้งที่ ๔

พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จมาถึงพรมแดนนั้น ไม่ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาจึงเสด็จเข้ากบิลพัสดุ์ จับพวกศากยะฆ่าเสียมากมายไม่เว้นแม้แต่เด็กที่กำลังดื่มนม ยังธารโลหิตให้หลั่งไหลแล้ว รับสั่งให้เอาโลหิตในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่เคยประทับนั่ง แล้วเสด็จกลับสาวัตถี เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีในเวลาค่ำ จึงให้ตั้งค่ายพัก ณ ที่นั้น

ไพร่พลของพระองค์เลือกนอนได้ตามใจชอบ บางพวกนอนที่หาดทรายในแม่น้ำ (น้ำลง หาดทรายในแม่น้ำนอนได้สบาย แม่น้ำคงคาก็เหมือนกัน) บางพวกก็นอนบนบกเหนือริมฝั่งขึ้นไป พอตกดึก น้ำจะท่วมหลาก พวกที่นอนบนบกแต่ได้ทำกรรมไว้ร่วมกันมาก็ถูกมดแดงกัดลงไปนอนที่ชายหาด ส่วนพวกนอนที่ชายหาดก็ถูกมดแดงกัด จึงเปลี่ยนที่นอนขึ้นไปนอนข้างบน มหาเมฆตั้งเค้าทางเหนือน้ำ ฝนตกใหญ่ น้ำหลากอย่างรวดเร็วพัดพาเอาพระเจ้าวิฑูฑภะและบริวารบางพวก ลงสู่มหาสมุทรตายกันหมด

ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะว่า เมื่อความปรารถนาของพระองค์ไม่ถึงที่สุด ก็สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก คือสิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังมีความปรารถนาอื่น ๆ อยู่อีกมาก

พระศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมโนรถของสัตว์ทั้งหลาย ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง มัจจุราช
ก็เข้ามาตัดชีวิตอินทรีย์แล้วให้จมลงในสมุทร คือ อบาย ๔ ดุจห้วงน้ำใหญ่ หลากมาท่วมชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น" 

ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า "ปุปฺผานิเหว ปจินนฺตํ" เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณนามาแล้ว แต่ต้น

ในทัศนะของคนเนปาลเองทุกคนเชื่อเต็มเปี่ยมว่าพระพุทธเจ้าเป็นชายเนปาล
ไม่ใช่อินเดีย เพราะพระองค์เกิดในฝั่งเนปาลไม่ใช่อินเดีย ซึ่งเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย
เพราะว่าสถานที่ประสูติ คือ ลุมพินีและกบิลพัสดุ์ ก็ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในฝั่งเนปาล 
ซึ่งแต่ก่อนนั้นคำว่า อินเดีย  เนปาล ยังไม่มีการแบ่งแยกเป็นประเทศดังปัจจุบัน
มีแต่คำว่า ชมพูทวีป

นี่จึงเป็นจุดจบของเหล่าตระกูลศากยวงศ์ในสมัยพุทธกาล